การปกครองระบอบประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชน กล่าวคือประชาชนเลือกตัวแทนของตนเข้าไปร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลทำหน้าที่แทนในการออกกฎหมายเพื่อควบคุมดูแลสิทธิหน้าที่ของพลเมืองให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม และบริหารงานเพื่อพัฒนา จัดสรร แบ่งปันทรัพยากร และรายได้ของประเทศกลับคืนสู่พลเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งส่วนตัวเช่นการรักษาพยาบาล เบี้ยผู้สูงอายุ ความเสมอภาคทางด้านความยุติธรรม ฯลฯ ทั้งผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น การศึกษา สาธาณูปโภค ถนนหนทาง ฯลฯ โดยบริหารงานผ่านกระทรวงทะบวงกรมต่าง ๆ ซึ่งมีข้าราชการประจำเป็นผู้ทำงานสนองนโยบาย
ถาม…….ทำไมจึงไม่ให้คนดีมีความรู้ความสามารถเท่านั้นปกครองประเทศ ?
ตอบ…..เพราะคนทุกคนที่ยังไม่ติดคุกเชื่อได้ว่าเขาต้องเป็นคนดี คนที่เรียนจบปริญญาตรี โท เอก เชื่อได้ว่าเขาเหล่านั้นมีความรู้ คนที่ทำงานแล้วประสบความสำเร็จเชื่อได้ว่าเขามีความสามารถ ประเทศของเราจึงมีคนดีมีความรู้ความสามารถมากมาย แต่ทรัพยากรของประเทศเช่นดิน น้ำ ลม ไฟ เงินภาษี เป็นต้นเป็นของประชาชนในประเเทศทุกคน เป็นการเสี่ยงเกินไปที่จะมอบอำนาจให้คนใดคนหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งปกครองประเทศ ที่สำคัญคือคนดีมีความรู้ความสามารถฉลาดเฉลียวทุกคนก็ยังมีกิเลส มีความโลภ ความโกรธและความหลงเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยเรานั้น เคยมีคนที่อวดอ้างว่าตนเองเป็นคนดีมีความรู้ความสามารถฉลาดเฉลียวมากกว่าคนอื่นเข้ามาปกครองประเทศ แต่กลับแย่งชิงเอาทรัพยากรของพลเมืองไปเป็นของตนเองและพวกพ้องมาหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ขาดแคลนทรัพยากรที่จะนำไปพัฒนาประเทศและช่วยเหลือแบ่งปันให้แก่พลเมืองในรูปสวัสดิการต่าง ๆ ทำให้ประเทศล้าหลังและพลเมืองยากจน
ถาม…ควรมอบอำนาจให้ใครปกครองประเทศ ?
ตอบ..ควรมอบอำนาจการปกครองประเทศให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะคนที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกมานั้นเชื่อได้ว่าต้องเป็นคนดีมีความรู้ความสามารถ มีจิตสาธารณะและที่สำคัญคือมีจิตสำนึกที่ดีต่อประชาชนพลเมืองที่เลือกพวกเขาให้เป็นตัวแทน เชื่อได้ว่าคนเหล่านี้จะต้องเสียสละรับใช้ประชาชนพลเมืองอย่างแน่นอน ถ้าเขาเป็นคนชั่วจิตใจคับแคบไม่มีความรู้ความสามารถเหมาะสม ประชาชนส่วนใหญ่คงไม่เลือกเขาเป็นตัวแทน คนเหล่านี้จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลออกกฎหมายควบคุมดูแลสิทธิหน้าที่พลเมืองให้เสมอภาคเท่าเทียม และร่วมกันพัฒนาจัดสรร แบ่งปันทรัพยากรของพลเมืองได้อย่างยุติธรรม ถ้าพวกเขาทำไม่ดีกอบโกยโกงกิน ก็ยังมีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบถ่วงดุลย์ด่าประจานให้ประชาชนพลเมืองรับรู้ด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าฝ่ายค้านอภิปรายใส่ร้ายตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ ฝ่ายรัฐบาล ก็ยังมีโอกาสนำเสนอความจริงแก้ข้อกล่าวหาได้ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินอีกครั้งว่าจะเลือกตัวแทนและพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากเกินกึ่งหนึ่งก็เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งน้อยกว่าก็เป็นฝ่ายค้าน ถ้าไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งก็ตั้งรัฐบาลผสม โดยให้พรรคการเมืองที่รวบรวมสมาชิกได้เกินกึ่งหนึ่งเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้บริบท 4 ปีเลือกตั้ง 1 ครั้ง และ 1 คน 1 เสียงเท่ากัน
ถาม….เราเลือกตัวแทนของเราอย่างไร ?
ตอบ….เราเลือกตัวแทนของเราซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายจะจัดสรรแบ่งปันพัฒนาผลประโยชน์ของเราก่อนการเลือกตั้งเพื่อประกอบการตัดสินใจ ถ้าครบวาระ 4 ปีแล้วพรรคการเมืองที่เราเลือกไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เราก็เลือกสมาชิกพรรคการเมืองอื่นแทน
ถาม….ระบอบการปกครองแบบไหนดีที่สุด ?
ตอบ….ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์กล่าวว่า ไม่มีระบอบการปกครองแบบไหนดีที่สุด เช่น ระบอบราชาธิปไตย ถ้าพระราชาฉลาดปราชญ์เปรื่อง เป็นคนดีมีคุณธรรมและรักพลเมืองก็สามารถนำประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ระบอบเผด็จการทหารหรือระบอบเผด็จการอื่น ๆ ก็เหมือนกัน ส่วนเสียของระบอบการปกครองเหล่านี้คือไม่มีฝ่ายค้าน ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลย์และเปลี่ยนได้เลย ถ้าผู้นำกอบโกยโกงกิน และแย่งชิงเอาทรัพยากรของพลเมืองไปเป็นของตัวเองและพวกพ้อง จะทำให้ประเทศไม่ได้รับการพัฒนา ประชาชนพลเมืองจะต้องลำบากยากจนตลอดไปชั่วกาลนาน ถ้าผู้นำตายก็ยังมีทายาทสืบทอดอำนาจ เช่นผู้นำในประเทศเกาหลีเหนือเป็นต้น ส่วนการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่เลวน้อยที่สุดเท่าที่มนุษย์ชาติคิดค้นได้ในปัจจุบัน เพราะถ้าได้ผู้นำและคณะรัฐบาลไม่ดี ก็ยังมีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบถ่วงดุลย์และ เปลี่ยนได้ทุก 4 ปี เกือบทุกประเทศในโลกปัจจุบันจึงปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ถาม…ปัจจุบันประเทศไทยของเราปกครองในระบอบไหน ?
ตอบ…..ระบอบเผด็จการซ่อนรูป เพราะถึงแม้จะมีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง มีนโยบาย แต่เมื่อชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ เนื่องจากอำนาจในการตัดสินใจบริหารประเทศเป็นขององค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารทั้งสิ้น เช่นนโยบายเรื่องข้าว เรื่องการจัดการน้ำ เรื่องรถไฟความเร็วสูง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ถูกองค์กรอิสระสังระงับมิให้ดำเนินการ การตัดสินขององค์กรอิสระเหล่านี้จะเอนเอียงไปตามธงของผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น
ถาม…ใครคือผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังองค์กรอิสระเหล่านั้น ?
ตอบ….คณะรัฐประหารผู้แต่งตั้งองค์กรอิสระ
ถาม….คณะรัฐประหารยุบไปตั้งนานแล้วยังจะมีอำนาจอะไรหลงเหลืออยู่อีกหรือ ?
ตอบ….คณะรัฐประหารครั้งที่แล้วมี 2 ส่วน คือส่วนผู้ก่อการยึดอำนาจรัฐบาลได้แก่ผู้นำกองทัพในขณะนั้น และส่วนขององค์กรอิสระ ได้แก่ตุลาการรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีเฉพาะส่วนผู้ก่อการยึดอำนาจเท่านั้นที่สลายตัวไป แต่ส่วนองค์กรอิสระยังคงอยู่ และมีอำนาจควบคุมกำกับดูแลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไทยทั้งประเทศให้กระทำหรือมิให้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใด รัฐบาลจึงเป็นเพียงหุ่นเชิดขององค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ซึ่งเราเรียกการปกครองระบอบนี้ว่า ระบอบเผด็จการซ่อนรูป
ถาม…เมื่อไรระบอบเผด็จการซ่อนรูปจะหมดไปจากประเทศของเรา ?
ตอบ… เมื่อผู้มีอำนาจไม่หลงตัวเอง ไม่ลุแก่อำนาจ ลดความเห็นแก่ตัว และลดความเห็นทางชนชั้นลงเท่ากับชาวบ้านทั่วไป กล่าวคือเห็นตามและยอมรับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน จะต้องได้รับความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน ยอมรับความจริงของชีวิตได้ว่า ในโลกความเป็นจริงของการอยู่ร่วมกันนั้น จะต้องไม่มีใครได้อะไรไปทั้งหมดและจะต้องไม่มีใครเสียอะไรไปทั้งหมด ต้องมีได้บ้างเสียบ้างเป็นธรรมดา และที่สำคัญต้องไม่ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งและไม่ตะแบงตีความเข้าข้างตัวเองและพวกพ้องเมื่อเห็นว่าตัวเองและ พวกพ้องจะต้องเสียเปรียบหรือไม่ได้ดั่งใจอย่างที่เป็นมาในอดีตและที่กำลัง เป็นอยู่ในปัจจุบัน เท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ประเทศของเราปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้แล้ว
ถาม…ทำอย่างไรผู้มีอำนาจและผู้นำกองทัพจึงจะไม่ลุแก่อำนาจทำการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญอีก ?
ตอบ…เราคงไม่สามารถไปบังคับให้ผู้มีอำนาจทำอะไรหรือไม่ทำอะไรได้ เพราะคนไทยเรานั้นมีลักษณะเป็นสังคมแบบอำนาจนิยมเช่น เมื่อคนมีอำนาจพูดทุกคนต้องฟังและทำตามเท่านั้น จึงมีเพียง 2 ทางที่ประชาชนสามารถทำได้ คือ 1. ประชาชนเดินขบวนต่อต้าน ซึ่งวิธีนี้อาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง คนไทยจะแบ่งฝ่ายฆ่ากันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครองประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งแยกประเทศเป็นสองฝ่ายคือ ประเทศไทยที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยและประเทศไทยที่ปกครองในระบอบเผด็จการ 2. ประชาชนส่วนใหญ่ต้องอดทนทำใจยอมรับอำนาจเผด็จการให้ได้ รอให้ ฝ่ายมีอำนาจเผด็จการเลิกเสพติดอำนาจ ยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและพร้อมที่จะลงเรือประชาธิปไตยด้วยกัน เพื่อไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองเหมือนประเทศอื่น ๆ ในโลก
ถาม…รู้สึกอึดอัดจนทนไม่ไหวแล้ว จะทำอย่างไรดี ?
ตอบ…เอาหูไปนาเอาตาไปไร่และทำใจให้ได้ว่าประเทศไทยไม่ใช่ของเราคนเดียว เมื่อจำต้องอยู่ร่วมประเทศกับผู้มีอำนาจที่มียังมีกิเลสหนา มีความเห็นแก่ตัวจัด รักเฉพาะพรรคพวกของตัวเอง รังเกียจและรังแกเพื่อนร่วมชาติที่มีความเห็นแตกต่าง สิ่งที่พอทำได้คือทำใจยอมรับสภาพไปก่อน นานวันเข้าก็จะชินไปเอง
ระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการซ่อนรูปในประเทศของเราเท่าที่ผ่านมา มีทั้งสร้างความเจริญรุ่งเรืองและสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติของเราพอ ๆ กัน เพราะคนในรัฐบาลทั้งสองระบอบบางส่วนที่มีอำนาจเห็นแก่ตัวมากและรักพลเมืองน้อยเกินไป พวกเขาต่างพากันแสวงหาความร่ำรวยจากหยาดเหงื่อแรงงานและหยาดน้ำตาของเพื่อนร่วมชาติอย่างไร้ความปราณี
แม้ว่าประชาธิปไตยในประเทศของเราจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่ประเทศของเราก็เจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ทั้งนี้เพราะคนไทยส่วนใหญ่ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน ฝึกฝน มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ และมีคุณธรรม จึงอยากจะให้คนไทยที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันพยายามตัดใจและคิดใหม่ทำใหม่ว่า แมวจะสีอะไรก็ได้ขอให้จับหนูเป็น ก่อนนอนก็ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่ความรักความเมตตาและความปราถนาดีต่อกันให้มากขึ้น เอาใจช่วยและอวยพรให้ผู้นำของเราพร้อมคณะผู้บริหารรักและห่วงใยพลเมืองมากขึ้น เห็นแก่ตัวน้อยลง สามารถแก้ปัญหาทั้งในประเทศและต่างประเทศได้สำเร็จลุล่วง และนำพาประเทศชาติของเราไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง และทำให้ทุกคนในประเทศของเราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจและมีความสุข