เขียนจากความรู้และประสบการณ์ ข้อเขียนอาจจะไม่ดีนัก แต่เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ด้วยตัวของท่านเอง
คำนำ
ปัจจุบันทั่วโลกมีชาวพุทธนับพันล้านคน แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถบรรลุอรหันต์หรือนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา เพราะส่วนใหญ่เราสนใจแต่เรื่องการทำบุญ การให้ทาน การรักษาศีล และการนั่งสมาธิเพื่อทำให้ใจสงบเท่านั้นเอง พอเข้าวัดก็จะได้ฟังพระเทศน์ชักชวนบริจาคเพื่อสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ เวลาตายจิตวิญญาณจะได้หอบบุญกุศลไปเกิดใหม่ในชาติหน้า จะได้มีรูปสวย ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง สติปัญญาดี ได้เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี ข้าพเจ้าเองเคยบวชเป็นสามเณร 9 ปี บวชเป็นพระ 8 พรรษา เรียนจบปริญญาตรีพุทธศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เคยพยายามปฏิบัติเพื่อจะไปนิพพาน แต่คำสอนพระพุทธเจ้ามีมากถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ มีทั้งอรรถกถา ฏีกา อนุฏีกา ที่อธิบายขยายความโดยพระอรรถกถาจารย์รุ่นหลัง ๆ ซึ่งหลายท่านเคยนับถือศาสนาอื่นมาก่อน จึงเพิ่มหลักการความเชื่อในศาสนาเดิมของตน นั่น นี่ โน้นและนู้น รวมทั้งเพิ่มเติมเทพเจ้าต่าง ๆเข้ามามากมายเช่น พระอินทร์ พระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร พระศิวะ ยมทูต ยมบาล พระภูมิ เจ้าที่ แถมด้วยบทสวด เวทย์มนต์ กลคาถา เพื่อให้ผู้คนเชื่อถือศรัทธาเคารพบูชากราบไหว้โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภสักการะ ทำให้หนทางไปสู่นิพพานรกรุงรังวกวนยืดยาว ข้าพเจ้ามึนงงจนไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนอย่างไรจึงจะสามารถไปถึงนิพพานได้จึงตัดสินใจลาสิกขาบทมารับราชการครู แต่งงานมีครอบครัวตามวิถีปุถุชนคนยังมีกิเลส ขณะนี้ข้าพเจ้าเกษียณอายุราชการมีอายุได้ 62 ปีแล้ว คงมีเวลาอยู่บนโลกนี้ไม่นานนัก จึงใช้เวลาที่เหลืออยู่ศึกษาค้นคว้าอีกครั้งโดยเริ่มต้นที่ประวัติพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้ารู้ตัวเองว่ายังไม่บรรลุนิพพาน แต่ทางไปนิพพานที่ข้าพเจ้านำเสนอนี้คือแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้รับสั่งไว้แก่พระอานนท์ก่อนปรินิพพานว่า “ ดูก่อนอานนท์ ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปดประการอยู่ โลกก็จะไม่ว่างจากอรหันต์” และเมื่อใดก็ตามที่ข้าพเจ้าพูดถึงทางไปนิพพาน จิตจะสงบเย็นและเป็นสุข
หวังว่าสักวันข้าพเจ้าอาจไปถึงนิพพานได้ก่อนตายจากโลกนี้ไป
วิทิต ไชยวงศ์คต
14 กุมภาพันธ์ 2549
………………..
แค่ปลายมือ
………………
บวชแต่เด็ก เล่าเรียน ฝึกเขียนอ่าน
หลายปีผ่าน พ้นไป ไม่ท้อถอย
เป็นมหา เปรียญดั่ง ตั้งตาคอย
จึงมุ่งสอย ปริญญา วิชาการ
เข้าศึกษา มหาลัย ในทางสงฆ์
ญาติโยมส่ง ข้าวปลา น้ำอาหาร
บำเพ็ญบุญ หนุนปัจจัย ให้เป็นทาน
เรียนจบผ่าน ปริญญา วิชาการ
มีความรู้ กว้างขวาง ไม่หยั่งลึก
รู้เพียงนึก นี่นู้น โน้นและนั่น
สุขกับทุกข์ หมุนเวียน เปลี่ยนทุกวัน
เดี๋ยวเรื่องนั้น เดี๋ยวเรื่องนี้ มีแต่เซ็ง
ความอยากมี อยากเป็น ยังคงอยู่
ความหดหู่ ท้อถอย คอยข่มเหง
ตัณหาเถื่อน กิเลสถ่อย คอยบรรเลง
เสียงพิณเพลง ยังเสนาะ เพราะจับใจ
แม้มุ่งมั่น ฝึกจิต ให้ผ่องผุด
แต่จิตมุด รั้ววัดไป ไหนต่อไหน
ถ้าขืนบวช ติดต่อ ก็บรรลัย
สึกตามใจ แล้วบวชอีก ก็ยังทัน
นิพพานคือ เป้าหมาย ยังไม่ถึง
สักวันหนึ่ง กลับบวชใหม่ ไม่เหหัน
คงบรรลุ นิพพานได้ ในสักวัน
ตอนนี้ฉัน สึกไปก่อน ตอนมีแรง
จึงสึกมา หางานทำ เลี้ยงชีวิต
สุจริต นำทาง อย่างเข้มแข็ง
ได้คู่ครอง ต้องใจ ช่วยจัดแจง
ช่วยเบาแบ่ง ภาระงาน ให้บรรเทา
มีลูกหลาน เพิ่มมา เป็นภาระ
ยากที่จะ ตัดใจ จากพวกเขา
ความผูกพัน ร้อยรัด มัดใจเรา
จนแก่เฒ่า ป่วยไข้ ใกล้เข้าโลง
ไม่บวชกาย แต่ใจบวช มานานแล้ว
เป็นเฒ่าแนว ลดละ โลภโกรธหลง
กำหนดรู้ ซึ่งทุกข์ สุขดำรงค์
ถีบถองส่ง ความอยาก ออกจากใจ
พอความอยาก หมดไป ก็คลายทุกข์
เกิดความสุข เรืองรอง จิตผ่องใส
เผลอนิดเดียว ความอยากกลับ ทับถมใจ
จิตเคยใส เศร้าหมอง เข้าครองแทน
แต่ละวัน วนเวียน อยู่อย่างนี้
หลายสิบปี ที่บาศก์บ่วง ความหวงแหน
ผูกรัดคอ มัดศอกไว้ ไม่คลอนแคลน
มันสุดแสน ยากจะหลุด สุดดึงดัน
อยากจะถ่อ สังขาร ออกไปบวช
เพื่อละโกรธ โลภหลง ในสงสาร
ก้าวเดินไป บนเส้นทาง สู่นิพพาน
แต่สังขาร สึกหรอ สุดถ่อพาย
นั่งเหม่อมอง ตรองดู กูหรือนี่
ก่อนเคยมี ความฝัน อันสดใส
จะเข้าสู่ นิพพาน อันอำไพ
ก้าวเดินไป ตามรอยบาท พระศาสดา
บวชเป็นสงฆ์ ทรงศีล สิ้นกิเลส
ถือครองเพศ พรหมจรรย์ จิตหรรษา
จาริกไป สอนธรรม นำประชา
ตราบชีวา ดับดิ้น สิ้นลมปราณ
แต่บัดนี้ มีเพียงร่าง ของชายแก่
ใต้รักแร้ มีไม้ค้ำ ถ่อสังขาร
เขม้นมอง จ้องทาง สู่นิพพาน
อีกไม่นาน ต้องลาลับ ดับชีพลง
วางไม้เท้า กราบก้ม ประนมนึก
น้อมระลึก หลักธรรม ตามประสงค์
คำสั่งเสีย สุดท้าย พุทธองค์
ที่ให้สงฆ์ ทั้งหมด จดจำกัน
ว่าตราบใด ยังมีผู้ เดินตามมรรค
โลกนี้จัก ไม่ว่าง อรหันต์
แสงสว่าง ส่องใจ ในฉับพลัน
เห็นนิพพาน อยู่ใกล้ แค่ปลายมือ
…………………………………………………….
เมื่อ 2639 ปีที่แล้ว พระนางสิริมหามายาซึ่งเป็นพระมเหสีของพระจ้าสุทโธทนะแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย ได้ประสูติพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พออายุได้ 7 วัน พระราชบิดาได้จัดงานทำบุญตั้งชื่อให้พระราชโอรสโดยเชิญพราหมณ์ 108 คนมารับไทยทาน พราหมณ์ 108 คน ตั้งชื่อพระราชโอรสว่า สิทธัตถะ ในขณะเดียวกันพราหมณ์ที่ทำนายลักษณะแม่นยำที่สุดจำนวน 5 คนได้รับเลือกให้เป็นผู้ทำนายลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ 4 คนทำนายว่า ถ้าสิทธัตถะอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าสิทธัตถะออกบวชจะได้เป็นพระพุทธเจ้า
แต่มีพราหมณ์ 1 คนชื่อโกณทัญญะทำนายว่า สิทธัตถะจะได้ออกบวชและได้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น
สิทธัตถะออกบวชเมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา เพราะต้องการพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นความทุกข์ที่มนุษย์ทุกคนหนีไม่พ้น เมื่อออกบวชแล้วได้แสวงหาทางพ้นทุกข์ตามความเชื่อของศาสนาในสมัยนั้นที่สอนว่า ถ้าผู้ใดบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยการทรมานตนเองจนถึงที่สุด พระเจ้าจะลงมาช่วยดลบันดาลให้ได้ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ต้องการ พระองค์บำเพ็ญทุกกรกิริยาด้วยการทรมานตนเองอย่างถึงที่สุดหลายวิธีเช่น อดข้าว อดน้ำ จนพระวรกายผ่ายผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก กลั้นลมหายเข้าออกจนลมออกหูเป็นต้น โดยมีพราหมณ์ทั้ง 5 ที่เคยได้รับเชิญให้ทำนายลักษณะของพระองค์คอยเฝ้าอุปัฏฐากด้วยความหวังว่า เมื่อสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะได้รับคำสอนเป็นกลุ่มแรก
พระองค์ทรมานตนเองอยู่นานถึง 6 ปี แต่พระเจ้าก็ไม่มาช่วยตามที่สอนไว้ พระองค์เห็นว่าความมีอยู่ของพระเจ้าเป็นเพียงความฝันของมนุษย์เท่านั้น และทุกกรกิริยาไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ เพราะยิ่งบำเพ็ญก็ยิ่งมีทุกข์มากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อกายเป็นทุกข์ จิตใจก็กระวนกระวายและเป็นทุกข์มากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน หากขืนบำเพ็ญทุกกรกิริยาต่อไปก็อาจตายเปล่าได้ จึงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา หันมาฉันพระกระยาหารดังเดิม
ปัญจวัคคีพราหมณ์ที่เฝ้าอุปัฏฐากพระองค์ลงความเห็นว่า สิทธัตถะละความเพียรเวียนมาซึ่งความมักมาก คงไม่สามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ดั่งคำทำนาย จึงพากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ทิ้งให้สิทธัตถะอยู่ตามลำพัง
เมื่อสิทธัตถะอยู่ตามลำพัง จิตใจก็ปลอดโปร่ง จึงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจ นานเท่าไรไม่ปรากฏจนกระทั้งถึงเช้าวันเพ็ญเดือน 6 พระองค์ได้รับข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวายแก้บน ทำให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงมากขึ้น ตอนบ่ายโสตถิยะพราหมณ์แบกหญ้าคาที่เกี่ยวได้ประมาณ 10 กำ เดินผ่านมาเห็นพระองค์นั่งอยู่ จึงนำหญ้าคามาถวาย 1 กำ ตอนเย็นพระองค์สรงน้ำชำระพระวรกายให้สะอาด ทำให้ร่างกายสดชื่น จิตใจปลอดโปร่ง
ตอนค่ำพระองค์นำหญ้าคามาปูใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เสด็จขึ้นประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ตั้งอธิษฐานว่า ถ้าไม่พบทางพ้นทุกข์จะไม่ลุกจากที่นั่งทั้งคืน พระองค์นั่งสมาธิทำใจให้สงบ เมื่อใจสงบแล้วก็มุ่งพิจารณาหาทางพ้นทุกข์ พระองค์ได้ค้นพบทางพ้นทุกข์และพ้นจากความทุกข์เมื่อเวลาฟ้าสาง
เรียกการค้นพบทางดับทุกข์และการพ้นทุกข์นี้ว่า การตรัสรู้ (รู้แจ้งชัดซึ่งอริยสัจสี่ประการด้วยพระองค์เอง )
พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่หรือรู้แจ้งซึ่งความจริงที่แท้จริง 4 ประการ ได้แก่
1. ทุกข์ ทุกข์คือความไม่สบายกาย และความไม่สบายใจ
2. สมุทัย คือสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์
3. นิโรธ คือการดับทุกข์
4. มรรค คือทางดำเนินไปถึงการดับทุกข์
คำถามมีว่า
ถามว่า…อรหันต์กับนิพพานต่างกันอย่างไร?
ตอบ…อรหันต์แปลว่าผู้ห่างไกลจากกิเลส ส่วนนิพพานแปลว่าผู้ดับกิเลสได้แล้ว เราเรียกผู้ที่สามารถดับกิเลสได้แล้วว่าพระอรหันต์
ถามว่า…จิตกับใจเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร?๋
ตอบ…จิตเป็นภาษาบาลีแปลเป็นไทยว่าใจ ส่วนใจเป็นภาษาไทยแปลเป็นภาษาบาลีว่าจิต ทั้งสองคำมีความหมายอย่างเดียวกัน
ถาม…รู้ทุกข์คือรู้อย่างไร ?
ตอบ….รู้ทุกข์คือรู้ว่าความทุกข์คือความไม่สบาย มี 2 อย่าง คือ
1. ทุกข์กายคือความไม่สบายกาย ได้แก่ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การหิว กระหาย เหนื่อย ร้อน หนาวฯลฯ ทุกข์กายนั้นเป็นสภาวะทุกข์หรือทุกข์ธรรมชาติ ไม่มีใครสามารถหนีพ้นทุกข์ทางกายได้ตราบใดที่ยังมีกาย
2. ทุกข์ใจคือความไม่สบายใจ ได้แก่ความอยากมี ความอยากเป็น ความอยากไม่มีความอยากไม่เป็น ความโลภ ความโกรธ ความคับแค้นใจ ความหลง ความโศกเศร้า เป็นต้น ซึ่งจรมากับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสและอารมณ์ ที่มากระทบกับตาหูจมูกลิ้นกายใจจนเกิดการปรุงแต่งว่าดีว่าร้ายแล้วเสวยอารมณ์ที่ปรุงนั้นทำให้เกิดตัณหาความทะยานอยากและกิเลสเครื่องทำให้ใจเศร้าหมอง ทำให้ใจเป็นทุกข์ แต่เราสามารถหนีพ้นจากทุกข์ทางใจได้ด้วยการเดินตามมรรคมีองค์แปด
ถาม……รู้สมุทัย คือรู้สาเหตุทำให้เกิดทุกข์คือรู้อย่างไร ?
ตอบ….คือรู้ว่าตัณหาคือความทะยานอยากไม่มีที่สิ้นสุดเป็นสาเหตุทำให้เกิดทุกข์ มี 3 อย่าง คือ 1. กามตัณหา ความอยากมี 2. ภวตัณหา ความอยากเป็น 3. วิภวตัณหา ความอยากไม่มีและความอยากไม่เป็น
ถามว่า…เหตุใดเราจึงเกิดตัณหา?
เหตุที่เราเกิดตัณหาเพราะใจของเราถูกอวิชชาครอบงำ
ถามว่า..อวิชชาคืออะไร ?
ตอบว่า..อวิชชาคือความไม่รู้เท่าทันอารมณ์ที่จรมากับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสและธัมมารมณ์
ถามว่า..อารมณ์คืออะไร ?
ตอบว่า..อารมณ์คือความรู้สึกนึกคิด
ถามว่า..ทำไมใจเราจึงถูกอวิชชาครอบงำ ?
ตอบว่า… เหตุที่ใจถูกอวิชชาครอบงำเพราะใจเราขาดสติ เหตุที่ใจเราขาดสติเพราะใจเราเผลอ เหตุที่ใจเราเผลอก็เพราะใจเราขาดสติจึงถูกอวิชชาเข้าครอบงำ ใจของเรามีหน้าที่ 3 อย่างคือ รับรู้ ปรุงแต่งและเสวยอารมณ์ที่ใจคิดปรุงแต่งนั้น เมื่อใจถูกอวิชชาครอบงำใจจะไม่รู้เท่าทันอารมณ์ที่มากับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสและธัมมารมณ์ ที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ใจจึงรับรู้ คิดปรุงแต่งสิ่งที่มากระทบนั้นว่าดี ว่าร้าย และเสวยอารมณ์ที่ใจคิดปรุงแต่งขึ้นนั้นแล้วเกิดตัณหาคือความทะยานอยาก
ถ้าใจคิดปรุงแต่งว่าดี น่าปรารถนาและเสวยอารมณ์ที่เกิดจากการปรุงแต่งนั้น กามตัณหา ความอยากมี และภวตัณหา ความอยากเป็นก็จะเกิดขึ้นครอบงำใจ รากเหง้าของกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานของเราได้แก่ ความโลภ ความหลงที่นอนเนื่องหรือนอนสงบนิ่งอยู่ในสันดานก็จะผุดขึ้นครอบงำใจ ทำให้ใจขุ่นมัวกระวนกระวายดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้ มี เป็นดังที่ใจต้องการและเป็นทุกข์
ถามว่า…สันดานคืออะไร ?
ตอบว่า…สันดานคือ อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด
ถามว่า..อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิดคืออะไร ?
ตอบว่า…คือความประพฤติที่เคยชินตั้งแต่เกิด
ถ้าใจคิดปรุงแต่งว่าร้าย น่าเกลียด น่ากลัว น่าขยะแขยงไม่นาปรารถนา และเสวยอารมณ์ที่ปรุงแต่งนั้น วิภวตัณหา ความอยากไม่มี ความอยากไม่เป็นก็จะเกิดขึ้น ทำให้กิเลสคือความโกรธ ความเกลียด ความไ่มพอใจ ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานก็จะผุดขึ้นครอบงำใจ ทำให้ใจขุ่นมัวกระวนกระวายและดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ไม่ได้ ไม่มี และไม่เป็นดังที่ตนเองได้ มี เป็นอยู่ ทำให้เป็นทุกข์
ถ้าใจไม่ปรุงแต่งสิ่งที่จรมากระทบเหล่านั้นว่าดีว่าร้าย เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้ลิ้มรสก็สักแต่ว่าได้ลิ้มรส กายสัมผัสก็สักแต่ว่าเป็นกายสัมผัส ธัมมารมณ์ที่มากระทบกับใจก็สักแต่ว่าเป็นธัมมารมณ์ ตัณหาก็ไม่เกิด ส่วนกิเลสก็นอนเนื่องในสันดานก็ไม่ผุดขึ้นมารบกวนให้วุ่นวายใจและเป็นทุกข์ ใจก็จะว่างจากตัณหาและกิเลสทั้งปวงและเป็นสุขอย่างยิ่ง คือสุขในนิพพาน
ถามว่า…กิเลสคืออะไร ?
ตอบว่า… กิเลสคือเครื่องทำให้ใจเศร้าหมองและเป็นทุกข์
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปภัสสระมิทัง ภิกขเว จิตตัง แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติของจิตหรือจิตเดิมนี้ผ่องใส อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฐัง แปลว่า จิตนี้เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา
ถามว่า..อวิชชามาจากไหน ?
ตอบ…มาจากใจที่ขาดสติ ถ้าใจขาดสติอวิชชาคือความไม่รู้เท่าทันอารมณ์ที่จรมากับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธัมมารมณ์ที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะเกิดขึ้นครอบงำใจทันที เหมือนหลับตาก็จะมืดทันที มองไม่เห็นอะไรเลย ถ้ามีสติ วิชชาคือความรู้แจ้งก็จะเกิดขึ้นทันทีเหมือนกัน ซึ่งจะทำให้ใจเรามองเห็นและรู้เท่าทันอารมณ์ที่จรมากับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธัมมารมณ์ตามความเป็นจริง เหมือนเราลืมตาก็จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆตามความเป็นจริง
ถามว่า…ถ้าใจเราถูกตัณหาครอบงำจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง
ตอบว่า….ใจเราก็จะขุ่นมัว ร้อนรนกระวนกระวายและเป็นทุกข์เพราะความอยาก ส่วนกายเราก็เป็นทุกข์เพราะต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้มีเป็นหรือไม่ได้มีเป็นดั่งที่ใจต้องการ
ถาม….รู้นิโรธ หรือการดับทุกข์คือรู้อย่างไร?
ตอบ….. พระพุทธเจ้าตรัสรู้นิโรธด้วยอาการ 3 อย่างคือ 1. รํู้ว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นดับได้จริง 2.รู้ว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นควรทำให้แจ้ง 3. รู้ว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นเราทำให้แจ้งแล้ว
ขั้นตอนแห่งการเกิดขึ้นและการดับไปแห่งทุกข์โดยละเอียดซึ่งอธิบายโดยหลักปฏิจสมุปบาท 12 ประการมีดังนี้
สรุปคือ เมื่ออวิชชาเกิด สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายะตะนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ ทุกขะโทมนัสสุปายาส ก็เกิด และเมื่ออวิชชาดับ สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายะตะนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ ทุกขะโทมนัสสุปายาส ก็ดับ
สรุปโดยย่อว่า เมื่ออวิชชาเกิดความทุกข์ก็เกิด และเมื่ออวิชชาดับความทุกข์ก็ดับ
เราสามารถดับทุกข์ได้ด้วยการเจริญสัมมาสติและสัมมาสมาธิเพื่อกำหนดรู้และดับความทุกข์ตามหลักปฏิจสมุปบาท 12 ประการได้ดั่งนี้แล
ละตัณหาเสียได้ก็คลายทุกข์ เกิดความสุขเรืองรองจิตผ่องใส
ละตัณหาเสียได้ตลอดไป จิตผ่องใสใจเป็นสุขทุกนาที
ถาม….รู้มรรค คือทางดำเนินไปถึงการดับทุกข์ คือรู้อะไรและรู้อย่างไร ?
ตอบ……คือรู้ว่ามรรคมีองค์แปดประการเป็นทางดำเนินไปถึงการดับทุกข์ได้จริง ถ้าจะดับทุกข์ต้องกำหนดรู้ทุกข์และกำหนดละตัณหาให้ได้ และการละตัณหานั้นต้องปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปดประการ ได้แก่
1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ 2. สัมมาสังกับปะ ดำหริชอบ
ปฏิบัติตามมรรคข้อ 1 และข้อ 2 เพื่อปรับความเห็นและความคิดให้ชอบ ตรงและถูกต้องในเรื่องการกำหนดรู้ทุกข์ การกำหนดละตัณหา การดับทุกข์ให้แจ้งและการปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปดเพื่อเดินไปบนเส้นทางสู่นิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์
3. สัมมาวาจา วาจาชอบ
ปฏิบัติตามมรรคข้อ 3 ด้วยการปรับคำพูดให้เป็นปิยะวาจา คือพูดเพราะ พูดสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เพื่อการอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างสงบสุข
4. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ 5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
ปฏิบัติตามมรรคข้อ 4 และข้อ 5 เพื่อปรับการงานและการประกอบอาชีพในการแสวงหาปัจจัยสี่ได้แก่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคมาบรรเทาทุกข์ทางกายและอยํู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ด้วยการทำการงานที่ไม่มีโทษและประกอบอาชีพที่สุจริตไม่ผิดศีลธรรมและกฎหมายบ้านเมือง
6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือพยายามปฏิบัติตามมรรคทั้งแปดข้อเพื่อบรรเทาทุกข์ทางกาย และพยายามเจริญสัมมาสติและสัมมาสมาธิเพื่อเจริญปัญญาดับทุกข์ทางใจ
7 สัมมาสติ ระลึกชอบ
เจริญมรรคข้อ 7 เพื่อกำกับดูแลใจมิให้พลั้งเผลอจนถูกอวิชชาความไม่รู้เท่าทันอารมณ์เกิดขึ้นครอบงำใจ
8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
เจริญมรรคข้อ 8 เพื่อเจริญปัญญาในการกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดละตัณหาและทำการดับทุกข์ให้แจ้ง
สรุปคือ เดินตามมรรคแปดประการนั้น เพื่อปรับความเห็น ความคิด คำพูด การงาน อาชีพ ความพยามยาม การมีสติและความตั้งใจให้ชอบทุกข้อในการเดินทางไปสู่พระนิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง
ถาม…..สัมมาทิฎฐิ เห็นชอบคือเห็นอะไร และเห็นอย่างไร ?
ตอบ…. คือเห็น 12 อย่างตามทางของพระพุทธเจ้า ได้แก่
1. เห็นว่าความทุกข์นั้นมีจริง
2. เห็นว่าความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้
3. เห็นว่าความทุกข์นั้นเรากำหนดรู้แล้ว
4. เห็นว่าตัณหา คือความทะยานอยากเป็นสาเหตุทำให้เกิดความทุกข์ได้จริง
5. เห็นว่าตัณหาคือความทะยานอยากนั้นควรกำหนดละ
6. เห็นว่าตัณหาคือความทะยานอยากนั้นเรากำหนดละแล้ว
7. เห็นว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นดับได้จริง
8. เห็นว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นควรทำให้แจ้ง
9. เห็นว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นเราทำให้แจ้งแล้ว
10. เห็นว่ามรรคมีองค์แปดนั้นเป็นทางดำเนินไปถึงการดับทุกข์ได้จริง
11. เห็นว่ามรรคมีองค์แปดนั้นควรเจริญ(ทำให้มีในใจตลอดเวลา)
12. เห็นว่ามรรคมีองค์แปดนั้นเราเจริญแล้ว
ถาม…. สัมมาสังกัปปะ ดำหริชอบคือดำหริอะไร และดำหริอย่างไร ?
ตอบ…. คือดำหริหรือนึกไว้ในใจ 12 อย่างตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ได้แก่
1. ดำหริว่าความทุกข์นั้นมีจริง
2. ดำหริว่าความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้
3. ดำหริว่าความทุกข์นั้นเรากำหนดรู้แล้ว
4. ดำหริว่าตัณหา คือความทะยานอยากเป็นสาเหตุทำให้เกิดความทุกข์ได้จริง
5. ดำหริว่าตัณหาคือความทะยานอยากนั้นควรกำหนดละ
6. ดำหริว่าตัณหาคือความทะยานอยากนั้นเรากำหนดละแล้ว
7. ดำหริว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นดับได้จริง
8. ดำหริว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นควรทำให้แจ้ง
9. ดำหริว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นเราทำให้แจ้งแล้ว
10. ดำหริว่ามรรคมีองค์แปดนั้นเป็นทางดำเนินไปถึงการดับทุกข์ได้จริง
11. ดำหริว่ามรรคมีองค์แปดนั้นควรเจริญ(ทำให้มีในใจตลอดเวลา)
12. ดำหริว่ามรรคมีองค์แปดนั้นเราเจริญแล้ว
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ มีคำอธิบายทำนองเดียวกัน
สรุป มรรคมีองค์แปดรวมลงในองค์ 3 คือ มรรคข้อ 1 – ข้อ 6 รวมลงในศีล(การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย เพื่อประกอบสัมมาชีพในการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างมีความสุข) มรรคข้อ 7 รวมลงในสมาธิ และมรรคข้อ 8 รวมลงในปัญญา
ถามว่า…ทำไมใจเราจึงเป็นทุกข์
ตอบว่า….เพราะใจคิดปรุงแต่งอารมณ์ที่จรมากับรูป รส กลิ่นเสียง สัมผัสและธัมมารมณ์ที่มากระทบกับตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจว่าดีว่าร้ายแล้วเสวยอารมณ์ที่ใจคิดปรุงแต่งขึ้นนั้น ทำให้ตัณหาคือสาเหตุแห่งทุกข์เกิดขึ้น และกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานได้แก่ความโลภ ความโกรธและความหลงเป็นต้นก็จะผุดขึ้นมาครอบงำใจ ทำให้ใจขุ่นมัวและเป็นทุกข์
ถามว่า…ทำไมใจจึงคิดปรุงแต่ง?
ตอบว่า…เพราะใจถูกอวิชชาคือความไม่รู้เท่าทันอารมณ์ที่จรมากับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสและธัมมารมณ์ที่มากระทบกับตาหูจมูกลิ้นกายใจ
ถามว่า…อวิชชาความไม่รู้เท่าทันคืออะไร?
ตอบ…คือรู้ช้ากว่าหรือไม่รู้เท่าทันอารมณ์ที่จรมากับรูป(รูปารมณ์) อารมณ์ที่มากับรส(รสารมณ์) อารมณ์ที่มากับกลิ่น(คันทารมณ์) อารมณ์ที่มากับเสียง(สัททารมณ์) อารมณ์ที่มากับสัมผัส (ผัสสารมณ์) และอารมณ์ที่มากับการที่ใจคิดไปเองตามธรรมชาติ(ธัมมารมณ์) เมื่อใจรับรู้ ปรุงแต่งและเสวยอารมณ์ ที่ปรุงแต่งขึ้นนั้นจะทำให้เราพลาดพลั้งทำความดีหรือชั่วได้มากมาย ส่วนความรู้ที่เราได้จากการศึกษาเล่าเรียนค้นคว้าจากตำหรับตำราหรือได้ยินได้ฟังได้ดมกลิ่นได้ลิ้มรสได้สัมผัสและคิดไปเองนั้น เป็นเพียงการจำได้หมายรู้เหมือนนกแก้วนกขุนทอง ถามมาตอบได้อธิบายได้เพราะท่องได้จำได้ เมื่อใดที่ใจเราถูกอวิชชาครอบงำ ใจจะคิดฟุ้งซ่าน ปรุงแต่งและเสวยอารมณ์ที่ใจคิดปรุงแต่งนั้น ถ้าใจเราปรุงแต่งและเสวยอารมณ์บ่อย ๆ ก็เป็นทุกข์บ้าง สุขบ้างตามสภาพ สุขและทุกข์เกิดขึ้นทับถมใจเราวันละหลายร้อยครั้งตามจำนวนครั้งของการปรุงแต่งและการเสวยอารมณ์
ถามว่า…ทำอย่างไรใจจึงจะรู้เท่าทัน?
ตอบ…ต้องเจริญสัมมาสติกล่าวคือทำให้มีสัมมาสติในใจตลอดเวลาเพื่อป้องกันมิให้อวิชชาเกิดขึ้นครอบงำใจ ในขณะเดียวกันก็เจริญสัมมาสมาธิกล่าวคือทำให้ใจให้แน่วแน่ในการกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดละตัณหา และทำการดับทุกข์ให้แจ้ง สรุปว่าเมื่อเจริญสัมมาสติและสัมมาสมาธิแล้ว วิชชาคือความรู้เท่าทันอารมณ์ที่จรมากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตามความเป็นจริงก็จะเกิดขึ้น เมื่อวิชชาเกิดขึ้น อวิชชาก็จะดับไป อุปมาเหมือนเมื่อความสว่างเกิดขึ้นความมืดก็ดับไป
ถาม…สัมมาสมาธิคืออะไร ต่างจากสมาธิธรรมดาและมิจฉาสมาธิอย่างไร
ตอบ…สัมมาสมาธิแปลว่าสมาธิชอบ เป็นสมาธิในมรรคมีองค์แปด หมายถึงสมาธิเพื่อเจริญปัญญาในการกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดละตัณหา และทำการดับทุกข์ให้แจ้งเพื่อเข้าสู่พระนิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง สมาธิธรรมดาคือการทำใจให้สงบนิ่งเพื่อผ่อนคลายความทุกข์หรือเพื่อหาช่องทางในการทำงาน ส่วนมิจฉาสมาธิแปลว่าสมาธิผิด หมายถึงสมาธิเพื่อสนองกิเลสตัณหาหรือสมาธิเพื่อแสวงหาลาภสักการะโดยมิชอบเช่น สมาธิหาหวย หาเบอร์หรือสมาธิเพื่อหาช่องทางในการทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นเป็นต้น
ถามว่า…เมื่อใจรู้เท่าทันรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสและอารมณ์ที่จรมากระทบกับตาหูจมูกลิ้นกายใจเหล่านั้นแล้วได้อะไร?
ตอบ….ได้วิชชาคือความรู้เท่าทันอารมณ์ที่จรมากับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสและอารมณ์ซึ่งมากระทบกับตาหูจมูกลิ้นกายใจตามความเป็นจริง เมื่อวิชชาเกิดขึ้น การปรุงแต่งอารมณ์ที่จรมากระทบเหล่านั้นว่าดีว่าร้ายก็จะไม่มี เมื่อการปรุงแต่งไม่มี การเสวยอารมณ์ก็จะไม่เกิด เมื่อการเสวยอารมณ์ไม่เกิด ตัณหาคือความทะยานอยากอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ก็จะดับไป เมื่อตัณหาดับไป กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานก็จะนอนต่อไปและไม่ผุดขึ้นมาทำให้ใจขุ่นมัวและเป็นทุกข์ ความทุกข์ทางใจก็จะดับไป เมื่อความทุกข์ทางใจดับแล้ว นั่นหมายถึงว่าเราได้บรรลุอรหันต์หรือเข้าถึงนิพพานแล้วนั่นเอง
ถามว่า….โกหกกันหรีอเปล่า ไปนิพพานทำไมดูง่ายจัง ?
ตอบ…ไม่โกหกแน่นอน สมัยครั้งพุทธกาลไปนิพพานง่ายกว่านี้หลายเท่า เช่นพระสงฆ์หลายรูปเพียงได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าเทศน์สองประโยคว่า สิ่งทั้งปวงเกิดจากเหตุใดก็ดับไปเพราะเหตุ ท่านเหล่านั้นก็ได้บรรลุอรหันต์ทันที
ถามว่า…จะไปฝึกปฏิบัติที่วัดไหนอย่างไร?
ตอบ…ฝึกปฏิบัติได้ทุกที่ทุกเวลา
ถามว่า…ทำไมใจจึงถูกอวิชชาครอบงำ?
ตอบ…เพราะใจเผลอ
ถามว่า…ทำไมใจจึงเผลอ?
ตอบว่า…..เพราะใจขาดสติคอยควบคุมกำกับดูแล
ถามว่า….ทำไมใจจึงขาดสติคอยควบคุมกำกับดูแล?
ตอบว่า….เพราะใจเราเผลอ
ถามว่า…ถ้าใจเราเผลอจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา?
ตอบว่า….อวิชชาคือความมืดบอดที่เกิดขึ้นครอบงำใจ ทำให้ใจมืดบอดไม่รู้เท่าทันอารมณ์ที่จรมากับรูป รส กลิ่นเสียง สัมผัสและธัมมารมณ์ที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งจะทำให้ใจของเราคิดปรุงแต่งสิ่งที่จรมากระทบนั้นว่าดีว่าร้าย และเสวยอารมณ์ที่ใจคิดปรุงแต่งนั้นทำให้เกิดตัณหาคือความทะยานอยาก 3 อย่างได้แก่ กามตัณหาความอยากมี ภวตัณหาความอยากเป็น และวิภวตัณหาความอยากไม่มีความอยากไม่เป็น ความอยากจะไปกระตุ้นให้รากเหง้าของกิเลสทั้งหลายได้แก่ความโลภ ความโกรธ และความหลงเป็นต้นที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานของเราผุดขึ้นมาครอบงำใจของเรา เมื่อตัณหาและกิเลสเกิดขึ้นครอบงำใจจะทำให้ใจวุ่นวายขุ่นมัวมืดบอดและเป็นทุกข์
ถามว่า…ทำอย่างไรใจของเราจึงจะไม่เผลอ?
ตอบว่า…ให้ใช้สัมมาสติคอยควบคุมกำกับดูแลใจของเราไว้ เพราะอวิชชามักเกิดขึ้นทุกครั้งที่ใจเราเผลอ
ถามว่า……สัมมาสติและสัมมาสมาธิคืออะไร?
ตอบว่า….สัมมาสติคือการระลึกชอบ สัมมาสมาธิคือการตั้งใจชอบ
ถาม…สัมมาสติ การระลึกชอบคือระลึกอย่างไร?
ตอบ…คือตั้งสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่จรมากับรูป รส กลิ่นเสียง สัมผัส ที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อป้องกันมิให้อวิชชาเกิดขึัน
ถาม…สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบคือตั้งใจอย่างไร?
ตอบ…คือตั้งใจแน่วแน่ในการทำสมาธิ เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่จรมากับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธัมมารมณ์ที่จรมากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเห็นช่องทางในการกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดละตัณหาอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงได้แจ่มแจ้ง และสามารถดับทุกข์ได้สิ้นเชิง
ถามว่า…วิชชาคืออะไร?
ตอบ…คือความรู้แจ้งที่เิกิดขึ้นในใจทำให้ใจมองเห็นและรู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบ
ถาม…อยากจะดับทุกข์แต่ไม่รู้จะดับตรงไหนอย่างไร?
ตอบ…ต้องดับที่สาเหตุแห่งทุกข์ นั่นคือการกำหนดละตัณหาความทะยานอยาก 3 ประการได้แก่กามตัณหาความอยากมี ภวตัณหาความอยากเป็น และวิภวตัณหาความอยากไม่มีความอยากไม่เป็น
ถามว่า…ดับตัณหาดับอย่างไร?
ตอบ….ต้องเดินตามมรรคมีองค์แปด ข้อ1 ถึงข้อ 6 เพื่อรักษากาย วา ใจให้เรียบร้อย ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข เจริญมรรคข้อ 7 คือสัมมาสติเพื่อกำกับดูแลใจไว้มิให้อวิชชาเกิดขึ้น และเจริญมรรคข้อ 8 คือสัมมาสมาธิเพื่อเจริญปัญญาจนเกิดวิชชาความรู้แจ้ง รู้เท่าทันอารมณ์ที่จรมากับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสและธัมมารมณ์ที่จรมากระทบกับตาหูจมูกลิ้นกายใจตามความเป็นจริง ไม่ปรุงแต่งสิ่งเหล่านั้นว่าดีว่าร้าย เมื่อวิชชาหรือปัญญาเกิดขึ้น อวิชชาก็ดับไป เมื่ออวิชชาดับไป การปรุงแต่งไม่มี ตัณหาก็ดับ เมื่อตัณหาดับ กิเลสก็ดับ ทุกข์ใจก็ดับ เมื่อทุกข์ใจดับ ใจก็จะว่างจากกิเลสทั้งปวง เมื่อใจว่าง ใจจะผ่องใส เบิกบานและเป็นสุขอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า นิพพานัง ปะระมัง สุญญัง แปลว่านิพพานว่างอย่างยิ่ง (คือว่างจากกิเลสเครื่องทำให้ใจเศร้าหมอง) และตรัสอีกว่า นิพพานัง ปะระมัง สุขัง แปลว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง (เป็นสุขเพราะไม่มีกิเลสครอบงำใจ)
ถาม…ใครบ้างที่เดินทางไปนิพพานได้?
ตอบ…ผู้เดินทางไปถึงนิพพานได้นั้นคือผู้ที่ปฏิบัติตามมรรคแปดได้ทุกข้อ 6 ข้อแรกเป็นการบรรเทาทุกข์ทางกาย 2 ข้อหลังเป็นการปฏิบัติเพื่อขจัดทุกข์ทางใจให้หมดไปสิ้นไป กล่าวคือเจริญสัมมาสติ(ระลึกชอบ)เพื่อคอยควบคุมกำกับดูแลใจมิให้อวิชชาเกิดขึ้นครอบงำ และเจริญสัมมาสมาธิ(ตั้งใจชอบ)เพื่อเจริญปัญญาในการกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดละตัณหา และดับทุกข์ทางใจให้แจ้งสิ้นเชิง นั่นหมายความว่าเขาได้เดินทางเข้าถึงนิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงได้แล้วนั่นเอง
ทุกอย่างกระจ่างแจ้ง อุปมาเหมือนเปิดของที่คว่ำอยู่ให้หงาย เปิดไฟในที่มืด ผู้ที่สามารถกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดละตัณหาซึ่งเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ได้ด้วยการเดินตามมรรคมีองค์แปดประการ(ทางสายกลาง) จนสามารถบรรเทาทุกข์ทางกายและดับทุกข์ทางใจได้สิ้นเชิงเรียกว่าเป็นพระอรหันต์คือผู้ห่างไกลจากกิเลส ส่วนผู้ที่สามารถค้นพบความจริงแท้ 4 ประการคือ รู้ทุกข์ รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้การดับทุกข์ และรู้ทางดับทุกข์ เป็นคนแรกเรียกว่า พระพุทธเจ้า และเรียกการค้นพบนี้ว่าการตรัสรู้
สิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าด้วยอาการ 12 ประการคือ
1. รู้ว่าความทุกข์นั้นมีอยู่จริง
2. รู้ว่าความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้
3. รู้ว่าความทุกข์นั้นเรากำหนดรู้แล้ว
4. รู้ว่าตัณหาคือความทะยานอยากเป็นสาเหตุทำให้เกิดความทุกข์จริง
5. รู้ว่าตัณหาคือความทะยานอยากนั้นเป็นสิ่งที่ควรกำหนดละ
6. รู้ว่าตัณหาคือความทะยานอยากนั้นเรากำหนดละได้แล้ว
7. รู้ว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นดับได้จริง
8. รู้ว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง
9. รู้ว่านิโรธคือการดับทุกข์นั้นเราทำให้แจ้งแล้ว
10. รู้ว่ามรรคมีองค์แปดประการนั้นเป็นทางดำเนินไปถึงซึ่งการดับทุกข์ได้จริง
11. รู้ว่ามรรคมีองค์แปดประการนั้นเป็นสิ่งที่ควรเจริญ
12. รู้ว่ามรรคมีองค์แปดนั้นเราเจริญแล้ว
สรุปคือ กำหนดรู้ทุกข์ กำหนดละตัณหา ทำการดับทุกข์ให้แจ้งด้วยการเจริญมรรคแปด(การเจริญมรรคแปดคือการทำมรรคแปดให้งอกงามในใจตลอดเวลา)
พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกคนมีพุทธคือองค์ความรู้ในใจพร้อมที่จะบรรลุนิพพาน เพียงแต่วิธีการบรรลุนิพพานหรือการดับทุกข์นั้นอาจจะแตกต่างกันเช่น บางคนบรรลุนิพพานได้ด้วยการฟัง บางคนบรรลุนิพพานได้ด้วยการพูดให้คนอื่นฟัง บางคนบรรลุนิพพานได้ด้วยการสนทนาธรรม บางคนบรรลุนิพพานได้ด้วยการภาวนาคือการทำให้เกิดปัญญา ทุกคนสามารถกำหนดรู้ทุกข์ ละตัณหา ดับทุกช์ได้ถาวร และบรรลุนิพพานได้เช่นเดียวกัน
สรุปทางไปนิพพาน………….ผู้ประสงค์จะไปนิพพานให้ทำ 3 อย่างคือ 1. ให้ทาน เพื่อกำจัดความตระหนี่ และทำใจให้แกล้วกล้าเบิกบาน 2. รักษาศีล เพื่อทำให้กายและวาจาสงบ 3. เจริญภาวนา เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดละตัณหา และทำการดับทุกข์ให้แจ้งด้วยการเจริญสัมมาสติคอยกำกับใจไว้มิให้เผลอจนถูกอวิชชาเกิดขึ้นครอบงำ ซึ่งจะทำให้ใจคิดปรุงแต่งอารมณ์ที่จรมากับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธัมมารมณ์ที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ว่าดี หรือว่าร้าย แล้วเสวยอารมณ์ที่ปรุงนั้นทำให้เกิดความอยากและความทุกข์ตามมา และ่เจริญสัมมาสมาธิคือการตั้งใจแน่วแน่มั่นคงในการกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดละตัณหาอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ และทำการดับทุกข์ให้แจ้งด้วยการเดินตามมรรค เรียกผู้ที่ฝึกฝนตนเองได้ถึงขั้นนี้ว่า ผู้บรรลุอรหันต์ แปลว่าผู้ห่างไกลจากกิเลส หรือผู้บรรลุนิพพาน แปลว่าผู้ดับกิเลสได้แล้ว
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า นิพพานัง ปะระมัง สูญญัง แปลว่า นิพพานว่างอย่างยิ่ง คือใจว่างจากกิเลสเครื่องทำให้ใจเศร้าหมองทั้งหลายนั่นเอง และตรัสอีกว่า นิพพานัง ปะระมัง สุขัง แปลว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นสุขเพราะไม่มีกิเลสเครื่องทำให้ใจเศร้าหมองเกิดขึ้นครอบงำ
ตัวอย่าง
ในครั้งพุทธกาล มีเศรษฐีคนหนึ่งเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จึงบริจาคทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นทาน แล้วออกบวชเป็นพระ หนึ่งเดือนแรกปฏิบัติธรรมอยู่กับพระอุปัชฌาย์ซึ่งเป็นพระวินัยธร (ผู้ปฏิบัติวินัยอย่างเคร่งครัด) พระอุปัชฌาย์คอยสั่งสอนให้รักษาศีลของพระ จำนวน 227 ข้ออย่างเคร่งครัด อย่าให้ขาดแม้แต่ข้อเดียว พระรูปนั้นเริ่มท่องศีล 227 ข้อเป็นเวลา 1 เดือนก็ยังท่องไม่ได้ การบรรลุอรหันต์ดูเหมือนจะห่างไกล ใจยิ่งเป็นกังวลและเป็นทุกข์มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและคิดจะลาสึก แต่นึกขึ้นได้ว่ายังมีพระอาจารย์อีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์(พระผู้สวดให้ตอนบวช) พระอาจารย์รูปนี้เป็นพระธรรมธร (ผู้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด) จึงไปศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านเป็นเวลา 1 เดือน ท่านสอนว่า เธอไม่ต้องไปสนใจเรื่องวินัย เพราะไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์ ให้เธอศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเดียวก็พอ พระรูปนั้นจึงเริ่มท่องจำธรรมซึ่งมีมากถึง 8,400 พระธรรมขันธ์หรือ 8,400 หัวข้อ ซึ่งมากกว่าวินัยหลายพันเท่า ครบหนึ่งเดือนก็ยังท่องหัวข้อธรรมได้ไม่ถึงครึ่ง การบรรลุอรหันต์ยิ่งห่างไกลและริบหรี่ลางเลือนกว่าเดิม ใจยิ่งเป็นกังวลวุ่นวายและเป็นทุกข์มากกว่าเดิมหลายพันเท่า จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อลาสึก พระองค์เทศนาโปรดพระรูปนั้นว่า เธอไม่ต้องท่องจำศีล และไม่ต้องท่องบ่นธรรม ให้เธอรักษาใจของเธออย่างเดียว โดยการใช้สติคอยกำกับใจไว้ไม่ให้ใจคิดปรุงแต่งอารมณ์ที่จรมากับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธัมมารมณ์ที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ว่าดี ว่าร้าย เมื่อมีรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสและอารมณ์มากระทบก็ให้ใจทำหน้าที่เพียงรับรู้เท่านั้นเช่น เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น สัมผัสก็สักแต่ว่าสัมผัส ธัมมารมณ์ก็สักแต่ว่าเป็นธัมมารมณ์ ไม่นำสิ่งเหล่านั้นมาปรุงแต่งว่าดีว่าร้ายแล้วเสวยอารมณ์ที่ปรุงแต่งนั้น เพราะจะทำให้กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานผุดขึ้นมาครอบงำใจซึ่งจะทำให้ใจขุ่นมัวและเป็นทุกข์ หนึ่งเดือนผ่านไปพระรูปนั้นได้บรรลุอรหันต์ คือใจหลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชาความไม่รู้ ตัณหาความทะยานอยากและกิเลสเครื่องทำให้ใจเศร้าหมองทั้งปวง ….ยังมีตัวอย่างอื่นอีกมากมายในทำนองเดียวกันนี้ให้เราได้ศึกษาและปฏิบัติตาม
มหาบุญหนัก ยืนยังเซ สรุปว่า…..จะไปสวรรค์ให้ทำ 2 อย่างคือ 1. ให้ทาน 2. รักษาศีล แต่ถ้าจะไปนิพพานให้ทำอย่างเดียวคือ ทำใจ
………………….
5 Comments
Hi there Ogrodzenia ! Your write-up rocks also as becoming a genuine wonderful fully grasp!??
Recently, I did not give a lot of consideration to leaving comments on weblog Ogrodzenia webpage posts and have positioned remarks even a lot less.
I can not determine how do I subscribe to your weblog Sztachety
ได้ความรู้ดีมากๆ ขอบคุณครับ ขออนุญาตนำเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานต่อนะคัรบ
คุณโกมินทร์ ครับ
ด้วยความยินดีครับ สวัสดีครับ