รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสืออนุสรณ์งานทักษิณานุประทาน(งานทำบุญอุทิศส่วนกุศลหรืองานทำบุญแจกข้าว)คุณพ่อทอน ไชยวงศ์คต และเขียนจากคำบอกเล่าของคุณตายศ บริบูรณ์ และคุณย่าคำภา ไชยวงศ์คต สองผู้อพยพที่บอกเล่าเรื่องราวและที่มาของชาวภูไทยมหาชัย
…………………………
1. ความเป็นมา
………………………..
เดิมชาวภูไทยตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในประเทศลาวบริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงติดกับประเทศเวียตนาม ชาวภูไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมีสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ
………………………….
2. รูปร่างลักษณะ
…………………………
ชาวภูไทยมหาชัยส่วนใหญ่น่าจะเป็นลูกผสมสี่สายเลือดคือภูไทยจีนลาวและเวียตนาม เพราะผู้ที่อพยพมาตั้งบ้านด่านม่วงคำด้วยกันมีทั้งภูไทยจีนลาวและเวียตนาม ผิวค่อนข้างขาวเหลือง ตาสองชั้น จมูกโด่ง หน้าตาดี รูปร่างค่อนข้างสูงใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากชาวภูไทยวังที่น่าจะเป็นลูกครึ่งภูไทยเวียตนาม เพราะส่วนใหญ่ผิวขาวเหลืองเหมือนคนเวียตนาม ตาชั้นเดียวบ้างตาสองชั้นบ้างปะปนกันไป รูปร่างค่อนข้างบอบบางสูงโปร่ง จมูกโด่ง หน้าตาดี
…………………….
3. อุปนิสสัย
…………………….
ชาวภูไทยมหาชัยส่วนใหญ่เป็นคนพูดน้อย รักสงบ คบง่ายเข้ากับคนอื่นได้ดี มีน้ำใจ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน กตัญญู ใฝ่รู้ใฝ่เรียน คนหนุ่มชอบเดินทางท่องเที่ยวไปแสวงโชคในต่างถิ่น นับถือศาสนาพุทธ
………………..
4. ภาษาพูด
………………..
ชาวภูไทยมหาชัยมีภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่มักพูดได้หลายภาษา เช่นภูไทยมหาชัย ภูไทยวัง ไทยอีสาน ไทยย้อ ไทยกลาง เป็นต้น
……………….
5. ถิ่นเดิม
……………….
ถิ่นเดิมชาวภูไทยมหาชัยบ้านด่านม่วงคำ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร อยู่ที่บ้านป่ากล้วย เมืองมหาชัยกองแก้ว(แขวงชัยยะบุรี) ประเทศลาว อาณาเขตของหมู่บ้านป่ากล้วยติดกับชายแดนประเทศเวียตนาม โดยมีต้นไม้ล้มแบ่งเป็นเส้นเขตแดน ชาวภูไทยบ้านป่ากล้วยและหมู่บ้านใกล้เคียงแขวงเมืองมหาชัยกองแก้วประกอบอาชีพทำนาและเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก มีฐานะพออยู่พอกิน แต่ต้องส่งส่วยให้เวียตนามและลาวทุกปี จนมีคำพังเพยพูดกันติดปากชาวบ้านว่า โหซ่อยแกว แอวซ่อยลาว ชาวภูไทยเรียกคนเวียตนามว่าแกว โหซ่อยแกวหมายความว่า ต้องส่งส่วยใบเขืองเพื่อทำหมวกแก่เวียตนามทุกปี โดยเจ้าหน้าที่เวียตนามจะมาเก็บส่วยที่หมู่บ้านเอง(เขือง เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ลักษณะเหมือนต้นหมาก ตัดใบมาทำประโยชน์ได้หลายอย่าง) แอวซ่อยลาวหมายความว่าต้องส่งส่วยลูกสาวหลานสาวไปเป็นทาสรับใช้เจ้านายของลาวทุกปี โดยเจ้าหน้าทีลาวจะมาคัดเลือกเอาสาว ๆ ที่หน้าตาดีในหมู่บ้านไป มากน้อยขึ้นอยู่กับความสวยงามของสาวแต่ละหมู่บ้าน พอครบกำหนด 1 ปี เจ้าหน้าที่ลาวก็พามาส่ง บางคนปลอดภัยไม่ท้องแต่บางคนก็อุ้มท้องกลับมา แล้วเจ้าหน้าที่ลาวก็คัดเลือกสาวงามชุดใหม่ไปอีก
…………………………..
6. การอพยพ
…………………………
หน้าแล้งน้ำในลำน้ำโขงแห้งขอด หนุ่มภูไทยจากตัวเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆในเขตเมืองมหาชัยกองแก้วและหัวเมืองอื่น ๆ ได้เดินทางด้วยเท้าเปล่าข้ามลำน้ำโขงมาทำงานรับจ้างตามหัวเมืองและหมู่บ้านที่ฝั่งไทยทุกปี เพราะระยะทางไม่ไกลมากนัก กล่าวคือจากบ้านป่ากล้วยถึงเมืองมหาชัยกองแก้ว 2 คืน จากเมืองมหาชัยกองแก้วถึงท่าแขก 1 คืน จากท่าแขกถึงเมืองสกลนคร 1 คืน จากเมืองสกลนครถึงบ้านด่านม่วงคำ 2 คืน หลายปีต่อมาเจ้าหนุ่มคนหนึ่งที่ทำงานรับใช้เจ้าเมืองก็โชคดี เขาได้พบรักและแต่งงานกับธิดาของเจ้าเมืองสกลนคร และได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาประจันตะประเทศธานี ขึ้นครองเมืองสกลนครแทนพ่อตาที่แก่ชรา พระยาประจันตะประเทศธานีเห็นว่าเมืองสกลนครมีไพร่พลน้อย และทราบว่าญาติพี่น้องที่ประเทศลาวกำลังได้รับความเดือดร้อนจากการส่งส่วยให้แก่เวียตนามและลาวทุกปี จึงพาลูกน้องกลับไปป่าวประกาศชักชวนญาติพี่น้องตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตเมืองมหาชัยกองแก้วและหัวเมืองอื่น ๆ ให้อพยพมาตั้งบ้านเรือนในเขตเมืองสกลนครซึ่งยังมีป่าไม้และห้วยหนองคลองบึงอุดมสมบูรณ์และปลอดภัยจากการกดขี่ข่มเหงของเวียตนามและลาว
ในส่วนของชาวภูไทยทั้งในเมืองมหาชัยกองแก้วและตามหมู่บ้านต่าง ๆ ได้แก่บ้านป่ากล้วย บ้านนาปุง บ้านตา บ้านกุดซอง บ้านตะหลองและบ้านท่าปะโจ้น(ปะโจ้นเป็นภาษาภูไทแปลเป็นไทยว่า เปลือยกาย ) เป็นต้น ได้พร้อมใจกันอพยพครอบครัวหอบลูกจูงหลาน เดินเท้าเปล่า ขี่ช้าง ขี่ม้า ไล่ต้อนวัวควายติดตามพระยาประจันตะประเทศธานี ข้ามลำน้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ริมหนองหาร จังหวัดสกลนคร เมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2354 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ของไทย ชาวภูไทยมหาชัยอพยพข้ามโขงมาฝั่งไทยหลายครั้ง ทำให้แขวงมหาชัยกองแก้วกลายเป็นหมู่บ้านร้างเมืองไร้ผู้คน เวียตนามและลาวจึงให้เจ้าหน้าที่มาประกาศยกเลิกเก็บส่วยพร้อมทั้งขอร้องให้กลับบ้านเกิด ผู้อพยพบางส่วนจึงชวนกันกลับไปทำมาหากินในถิ่นฐานเดิมอย่างเป็นปกติสุขตั้งแต่นั้นมา
กลุ่มผู้อพยพส่วนใหญ่ที่มาจากเมืองมหาชัยและหัวเมืองอื่น ๆ เมื่อมาถึงจังหวัดสกลนครแล้วก็แยกย้ายกันไปหาทำเลตั้งบ้านเรือน หักร้างถางพงสร้างที่ทำกินตามที่ต่าง ๆ ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นชุมชนใหญ่เช่น อำเภอเมือง อำเภอพรรณานิคม อำเภอวาริชภูมิ อำเภออากาศอำนวย อำเภอส่องดาว และอำเภอคำตากล้า และมีบางหมู่บ้าน บางตำบล ปะปนอยู่กับชาวไทยเผ่าอื่นตามหมู่บ้านตำบลทุกอำเภอในจังหวัดสกลนครและบางอำเภอในเขตจังหวัดนครพนม ชาวภูไทยอีกกลุ่มหนึ่งอพยพขึ้นเขาภูพานไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อำเภอเขาวง อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และตั้งหมู่บ้านปะปนอยู่กับชาวไทยเผ่าอื่น ๆ แทบทุกอำเภอในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์
เนื่องจากชาวภูไทยมหาชัยมักพูดภาษาและปรับตัวเข้ากับคนไทยเผ่าอื่นได้ง่าย ภาษาและวิถีชีวิตจึงมักเปลี่ยนไปตามคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านและ ชุมชนนั้น ๆ จึงทำให้ยากแก่การสืบค้น
……………………………………..
7. ชนเผ่าที่อพยพมาด้วยกัน
……………………………………..
…………………………………….
8. บุคคลสำคัญที่ควรรู้
…………………………………….
…………………………………………………..
9. สาเหตุที่ชาวภูไทยมหาชัยลืมกัน
…………………………………………………..
…………………………………………………
10. ชาวภูไทยบ้านด่านม่วงคำ
…………………………………………………
ท้าวศรีสุราชชาวบ้านป่ากล้วย แขวงมหาชัยกองแก้ว ขี่ช้างพาครอบครัวต้อนวัวควายข้ามแม่น้ำโขงมากับคณะผู้อพยพจำนวนหนึ่ง เมื่อมาถึงเมืองสกลนครแล้ว พระยาประจันตะประเทศธานีซึ่งเป็นเจ้าเมืองเห็นว่ามีช้างมาด้วย จึงสั่งให้ไปตั้งบ้านเรือนบริเวณป่าไผ่ริมหนองหารซึ่งอยู่นอกเมือง(ปัจจุบันคือบริเวณดอนกระโจ)เพื่อสะดวกแก่การเลี้ยงช้าง ส่วนครอบครัวอื่น ๆ ให้เลือกทำเลสร้างบ้านในเมืองสกลนครตามใจชอบ หลายปีต่อมาเกิดฝนแล้ง ไม่ได้ทำนาติดต่อกันถึง 3 ปี ทุกคนอดอยากหิวโหยเพราะไม่มีข้าวกิน ต้องหาขุดมันแซง มันเพิ่ม เห็ด หน่อไม้ และกลอยกินแทนข้าว ทุกคนผอมโซจนกระทั้งหญิงสาวอายุ 20 ปีนมยังไม่ตั้ง
เมื่อปีพุทธศักราช 2423 ร.ศ. 99 จุลศักราช 1252 ปีมะโรง กลุ่มชาวภูไทยที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองสกลนคร นำโดยพระอาจารย์อ้วน วัดเหนือและผู้นำกลุ่มที่อพยพมาด้วยกันจำนวน 8 คนได้แก่ 1. ท้าวพันนาเมืองจันทร์ 2. ท้าวชัยยะชมพู 3. ท้าวพรหมนิน 4. หลวงพิลึก 5. ท้าวพรหมชัย 6. ท้าวแก้วดวงดี 7. ท้าวราชนิวงศ์ และ 8. ท้าวศรีสุราช พร้อมด้วยผู้อพยพจำนวน 15 ครอบครัว ไปกราบลาพระยาจันตะประเทศธานีผู้เป็นเจ้าเมืองสกลนคร แล้วลงเรือพายข้ามหนองหาร ล่องไปตามลำน้ำก่ำ จนกระทั้งพายเรือมาถึงปากห้วยแคนซึ่งห่างจากตัวเมืองสกลนครประมาณ 40 กิโลเมตร จึงจอดเรือขึ้นฝั่งเดินสำรวจพื้นที่โดยรอบพบว่า เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ อยู่ใกล้ลำห้วย ใกล้แม่น้ำก่ำ มีป่าไผ่ขึ้นหนาทึบ และมีสัตว์ที่เป็นอาหารชุกชุม ทั้งปลา ตะพาบน้ำ เต่า นก หนู งู และจรเข้ เหมาะแก่การทำนาและตั้งหมู่บ้าน จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ตั้งหมู่บ้านแห่งใหม่บนที่ดอนด้านทิศตะวันออกของลำน้ำก่ำ พระอาจารย์อ้วนได้ตั้งชื่อหมู่บ้านและวัดแห่งใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลว่า บ้านขมิ้น และวัดขมิ้น (ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่บ้านหนองบึง ตำบลหนองสังข์ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม) ทุกครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขได้ 5 ปีก็เกิดโรคระบาดทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน
พ.ศ. 2427 ร.ศ. 103 จุลศักราช 1246 ปีวอก พระอาจารย์อ้วนและญาติโยมที่รอดชีวิตมีมติให้ย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ จึงย้ายจากบ้านขมิ้นข้ามลำน้ำก่ำไปทางทิศตะวันตกซึ่งห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 2 กิโลเมตร จึงตั้งที่พักชั่วคราวขึ้น พ่อครูขันธ์ทำพิธีเสี่ยงทายที่ตั้งหมู่บ้านฝันว่าได้ดอกบัว 2 ดอก จึงตั้งพิธีเสี่ยงทายน้ำเต้า ผลการเสี่ยงทายได้ลูกครึ่ง ทำนายว่าเป็นมัธยมดีปานกลาง จึงพร้อมกันตั้งหมู่บ้านและวัดใหม่ขึ้นเป็นแห่งที่สอง ตั้งชื่อหมู่บ้านและวัดว่า บ้านม่วงคำและวัดม่วงคำ ตามชื่อต้นมะม่วงใหญ่อายุหลายร้อยปีที่ตั้งตระหง่านอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน คณะสงฆ์ได้แต่งตั้งพระอาจารย์อ้วนเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านม่วงคำ และทางราชการได้แต่งตั้งท้าวศรีสุราช(ดี) เป็นผู้ใหญ่บ้านและให้บ้านม่วงคำขึ้นกับตาแสง(ตำบล)โพนทอง ซึ่งมีพระสำราญเป็นตาแสง(กำนัน)
พ.ศ. 2436 ร.ศ. 112 จุลศักราช 1255 ปีมะเส็ง พระยาประจันตะประเทศธานีเจ้าเมืองสกลนคร ได้จัดตั้งด่านสอดแนมและเก็บภาษีเรือสินค้าขึ้นล่องตามลำน้ำก่ำระหว่างจังหวัดสกลนครกับจังหวัดนครพนมขึ้นที่ท่าน้ำหน้าวัดบ้านม่วงคำ โดยตั้งชื่อด่านแห่งนี้ว่า ด่านม่วงคำ บ้านและวัดจึงได้ชื่อเพิ่มมาอีกหนึ่งคำคือ ด่าน จึงรวมชื่อใหม่และชื่อเก่าเป็น บ้านด่านม่วงคำและว้ดบ้านด่านม่วงคำ ตามลำดับ
พ.ศ. 2440 พระอาจารย์อ้วนมรณะภาพ และชาวบ้านด่านม่วงคำกลุ่มหนึ่งได้ย้ายครอบครัวไปตั้งหมู่บ้านใหม่มีชื่อว่า บ้านป่าปอ ตำบลด่านม่วงคำ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. 2441 ทางฝ่ายคณะสงฆ์มีคำสั่งแต่งตั้งพระอาจารย์คำฟอง ฐิตธัมโม เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านด่านม่วงคำ และทางฝ่ายบ้านเมืองได้ยกฐานะบ้านด่านม่วงคำขึ้นเป็นตำบลด่านม่วงคำ มีหมู่บ้านในเขตปกครองจำนวน 8 หมู่บ้านได้แก่ 1. บ้านด่านม่วงคำ 2. บ้านกลาง 3. บ้านลาดค้อ 4. บ้านลาดดู่ 5. บ้านม่วงไข่ 6. บ้านหนองนางกอม 7.บ้านป่าขาว 8. บ้านป่าปอ และแต่งตั้งท้าวศรีสุราชเป็นตาแสง(กำนัน) มีชั้นยศที่ หลวงบริบาลบำรุงเขต
พ.ศ. 2442 ชาวบ้านด่านม่วงคำกลุ่มหนึ่งได้ย้ายครอบครัวไปตั้งหมู่บ้านใหม่มีชื่อว่า บ้านโนนกุง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. 2445 มีหมู่บ้านขอย้ายเข้ามาอยู่ในเขตปกครองของตำบลด่านม่วงคำจำนวน 3 หมู่บ้านได้แก่ 1. บ้านโนนกุง 2. บ้านเชียงสือใหญ่ 3. บ้านเชียงสือน้อย
พ.ศ. 2450 หลวงบริบาลบำรุงเขตถึงแก่กรรม ทางราชการได้แต่งตั้งนายทองเป็นกำนัน มีชั้นยศที่ หลวงเทพภูบาล
พ.ศ. 2452 ชาวบ้านด่านม่วงคำกลุ่มหนึ่งได้ย้ายครอบครัวไปตั้งหมู่บ้านใหม่มีชื่อว่า บ้านนาอวน อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และต่อมาได้แยกย้ายไปตั้งบ้านโคกสว่าง ตำบลคูสะคาม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
พ.ศ 2455 หลวงเทพภูบาลลาออก ทางราชการได้แต่งตั้งนายโก้ ลูกเขยหลวงบริบาลบำรุงเขต เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีชั้นยศที่ ขุนชำนาญ
……………………………………
12. ตั้งชื่อนามสกุล
…………………………………..
วันที่ 22 มีนาคม พศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น ให้มีผลบังคับใช้กับคนไทยทุกคน ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456
ลูกหลานของพระประจันตะประเทศธานีได้ตั้งชื่อนามสกุล พรหมสาขา ณ สกลนคร และ พลมณี ปัจจุบันผู้สืบทอดนามสกุลพรหมสาขา ณ สกลนคร และพลมณี ตั้งบ้านเรือนอยู่ในตัวเมืองสกลนคร
หลวงเทพภูบาล(นายทอง) อดีตกำนันตำบลด่านม่วงคำ ตั้งชื่อนามสกุล แสนเมือง ปัจจุบันทายาทผู้สืบทอดนามสกุลแสนเมืองส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านกลางและบ้านม่วงไข่ ตำบลด่านม่วงคำ
ขุนชำนาญ(นายโก้) ลูกเขยหลวงบริบาลบำรุงเขต ผู้ใหญ่บ้านบ้านด่านม่วงคำ ตั้งชื่อนามสกุล มูลเมืองแสน ปัจจุบันทายาทผู้สืบทอดนามสกุลมูลเมืองแสนส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านด่านม่วง
นายจูม (อาจารย์จูมซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นกำนันตำบลด่านม่วงคำ)หลานชายหลวงบริบาลบำรุงเขตรวบรวมลูกหลานญาติพี่น้องตั้งชื่อนามสกุล ไชยวงศ์คต ปัจจุบันทายาทผู้สืบทอดนามสกุลไชยวงศ์คตส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านด่านม่วงคำ
พ.ศ. 2464 ตั้งโรงเรียนประชาบาลตำบลด่านม่วงคำ เปิดทำการสอนครั้งแรกตั้งแต่ชั้น ป. 1 ถึงชั้น ป. 4 ที่ศาลาการเปรียญวัดบ้านด่านม่วงคำ มีนักเรียนจาก 5 หมู่บ้านคือ 1. บ้านด่านม่วงคำ 2. บ้านโนนกุง 3. บ้านกลาง 4. บ้านม่วงไข่ 5. บ้านป่าปอ มีครูสอน 2 คนคือ 1. นายจูม ไชยวงศ์คต 2. นายดอน สุโคตรพรหมมี
พ.ศ. 2474 ทางราชการมีคำสั่งประกาศยุบโรงเรียนเนื่องจากไม่มีงบประมาณสนับสนุน เพราะเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย บ้านเมืองยังไม่สงบ ช่วงปลายปีพระอาจารย์คำฟองฐิตธัมโม เจ้าอาวาสวัดบ้านด่านม่วงคำ ถึงแก่มรณภาพ
พ.ศ. 2475 คณะสงฆ์มีคำสั่งแต่งตั้งพระอาจารย์สังกา ฐิตะธัมโม เป็นเจ้าอาวาส และเปลี่ยนชื่อวัดบ้านด่านม่วงคำเป็นวัดนิมมานรดี ขณะเดียวกันทางราชการก็มีคำสั่งบรรจุแต่งตั้งนายบัว ทัศคร เป็นครูเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึงชั้น ป. 4 ที่โรงเรียนวัดนิมมานรดี นักเรียนมาจาก 5 หมู่บ้านเหมือนเดิม แต่ต้องสอนคนเดียวทั้ง 4 ชั้น
พ.ศ. 2476 ทางราชการมีคำสั่งแต่งตั้งนายกาบ สุวรรณเจริญ มาดำรงค์ตำแหน่งครูใหญ่ นายบัว ทัศคร และนายบุญทาน พรหมสาขาฯ ดำรงค์ตำแหน่งครูผู้สอน
พ.ศ. 2477 พระอาจารย์สังกา ฐิตะธัมโม ลาสึก พระอาจารย์สุพรรณ ฐิตเปโม เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี
พ.ศ. 2478 ขุนชำนาญ เกษียณอายุราชการ นายจูม ไชยวงศ์คต ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน และได้รับแต่งตั้งเป็นกำนันตำบลด่านม่วงคำในเวลาต่อมา มีคำสั่งย้ายนายกาบ สุวรรณเจริญ ไปโรงเรียนวัดบ้านหนองส่าน มีคำสั่งแต่งตั้งนายอุ่น นวลมณี เป็นครูใหญ่แทน ย้ายนายบุญทาน พรหมสาขาฯ ไปโรงเรียนอื่น และมีคำสั่งแต่งตั้งนายบัว ศรีเชษฐา เป็นครูผู้สอนแทน
พ.ศ. 2480 พระอาจารย์สุพรรณ ฐิตเปโม ลาสึก พระอาจารย์ผุย พันธุโร เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี
พ.ศ. 2481 นายอุ่น อินธิกาย ย้ายไปโรงเรียนอื่น นายกาบ สุวรรณเจริญ ย้ายกลับมาดำรงค์ตำแหน่งครูใหญ่เป็นครั้งที่ 2 ทางราชการได้บรรจุแต่งตั้งนายแปล เดชธิชา มาเป็นครูผู้สอนแต่ได้ย้ายไปเมื่อสิ้นปีการศึกษา
พ.ศ. 2482 โรงเรียนวัดนิมมานรดีได้ครูมาแทน 1 ตำแหน่งชื่อ นางเซี่ยน โคตรวิชัย แต่ได้ย้ายไปเมื่อสิ้นปีกาศึกษา
พ.ศ. 2483 โรงเรียนวัดนิมมานรดีได้ครูมาเพิ่ม 2 ตำแหน่งคือ 1. นายชารี พรหมเกื้อ 2. นายคุย คำตั้งหน้า ซึ่งต่อมานายคุย คำตั้งหน้า ถูกเณฑ์ไปเป็นทหาร นายชารีได้ย้ายไปเมื่อสิ้นปีกาศึกษา
พ.ศ. 2484 พระอาจารย์ผุย พันธุโร ลาสึก พระอาจารย์คำม้าว สุวัณโณ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี
พ.ศ. 2485 โรงเรียนวัดนิมมานรดีได้ครูมาเพิ่ม 2 ตำแหน่งคือ 1. นางสาวแว่น จันตาแสง 2. นายคำจันทร์ แสนเสนา แต่ได้ย้ายไปเมื่อสิ้นปีการศึกษา
พ.ศ. 2486 พระอาจารย์คำม้าว สุวัณโณ ลาสึก พระอาจารย์ตัน ฐิตธัมโม รักษาการเจ้าอาวาสวัดนิมมานรดีแทน และเปลี่ยนชื่อวัดนิมมานรดีเป็นวัดบ้านด่านม่วงคำตามเดิม โรงเรียนบ้านด่านม่วงคำได้ครูมาเพิ่ม 1 ตำแหน่งคือ นางสาวประนอม ทิพย์สุวรรณ
พ.ศ. 2488 นายจูม ไชยวงศ์คต เกษียณอายุราชการ นายบัว ไชยวงศ์คต ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลด่านม่วงคำในเวลาต่อมา นายกาบ สุวรรณเจริญ ครูใหญ่ย้ายไปโรงเรียนอื่น นายสุรสีห์ อาสาเสน ย้ายมาเป็นครูใหญ่แทน นายไสย มูลเมืองแสน ย้ายมาเป็นครูผู้สอน บ้านวัดและโรงเรียนได้ร่วมกันหาที่ดินเพื่อก่อตั้งโรงเรียนในที่ดินสาธารณะนอกวัด ในที่สุดก็ได้ที่สาธารณะท้ายหมู่บ้านเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ติดกับที่ดินป่าช้า และได้เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรกเมื่อปี พ.ศ. 2474 เป็นอาคารไม้ยกพิ้นสูง 4 ห้องเรียน มุงด้วยไม้กระดาน ปูพื้นไม้และมีบันไดขึ้นลงทางเดียวก็หมดเงินงบประมาณ จึงเป็นอาคารเรียนที่ไม่มีฝาไม่มีประตูหน้าต่าง
พ.ศ. 2489 พระอาจารย์ตัน ฐิตธัมโม ลาสึก พระอาจารย์โก โกวิทโท เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบ้านด่านม่วงคำ
พ.ศ. 2490 นายบุญทัน ประสงค์สิน ครูใหญ่ย้าย นายวีระพงษ์ ราชกรม ย้ายมาดำรงค์ตำแหน่งครูใหญ่แทน นายโสภณ อุปพงษ์ ย้ายมาเป็นครูผู้สอน อาคารเรียนหลังแรก หลังคามุงด้วยไม้แป้น พื้นห้องปูด้วยไม้กระดาน และบันไดทำด้วยไม้ ยังไม่มีฝากั้นห้องและประตูหน้าต่าง คณะครูได้ย้ายจากวัดนิมมานรดีไปเปิดทำการสอนที่โรงเรียนแห่งใหม่ชื่อ โรงเรียนประชาบาลตำบลด่านม่วงคำ และยังคงมีนักเรียนจาก 5 หมู่บ้านมาเข้าเรียนเหมือนเดิม
พ.ศ. 2491 พระอาจารย์โกวิท โกวิโท ลาสึก พระอาจารย์บุญรวม(ฮุ้ง) เขมโก เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบ้านด่านม่วงคำ
พ.ศ. 2492 นายบัว ไชยวงศ์คต เกษียณอายุราชการ นายสุพรรณ ไชยวงศ์คต ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน และได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลด่านม่วงคำในเวลาต่อมา นายกาบ สุวรรณเจริญ ย้ายกลับมาเป็นครูใหญ่สมัยที่ 3 อาคารสร้างใหม่ถูกพายุพัดถล่มล้มลงได้รับความเสียหายทั้งหลัง ต้องระดมชาวบ้านมาซ่อมแซมยกตั้งขึ้นใหม่ และไปตัดไม้มาค้ำพยุงไว้ โรงเรียนได้ครูมาสอนเพิ่ม 1 ตำแหน่งชื่อ นายสุพรรณ ต่ายเนาว์ดง แต่นายสุพรรณ ต่ายเนาว์เดงได้ย้ายไปเมื่อสิ้นปีการศึกษา
พ.ศ. 2493 พระอาจารย์บุญรวม เขมโก ลาสึก พระอาจารย์สา ฐิตธัมโม รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบ้านด่านม่วงคำ
พ.ศ. 2494 โรงเรียนบ้านด่านม่วงคำได้ครูผู้สอนมาเพิ่มจำนวน 1 ตำแหน่งชื่อ นายจินดา อุปพงษ์ แต่ได้ย้ายไปเมื่อสิ้นปีการศึกษา
พ.ศ. 2495 โรงเรียนบ้านด่านม่วงคำได้ครูผู้สอนมาเพิ่มจำนวน 1 ตำแหน่งชื่อ นายบัว ทัศคร
พ.ศ. 2496 พระอาจารย์สา ฐิตธัมโม ลาสึก พระอาจารย์กุ ถาวโร เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบ้านด่านม่วงคำ
พ.ศ. 2497 พระอาจารย์กุ ถาวโร ลาสึก พระอาจารย์ศรีเมือง อิสสระญาโณ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบ้านด่านม่วงคำ ทางราชการได้ตั้งโรงเรียนบ้านโนนกุง และโรงเรียนบ้านกลางม่วงไข่ขึ้น นักเรียนทั้งสามหมู่บ้านย้ายกลับไปเรียนในโรงเรียนประจำหมู่บ้านของตน ทางราชการมีคำสั่งแต่งตั้งย้ายครูโรงเรียนประชาบาลด่านม่วงคำไปสอนที่โรงเรียนบ้านโนนกุง 2 คนคือ 1. นายบุญไทย โคตรธรรม ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่ 2. นายบัว ทัศคร เป็นครูผู้สอน ส่วนโรงเรียนบ้านกลางม่วงไข่ทางราชการได้แต่งตั้งครูจากโรงเรียนอื่นไปเปิดทำการสอน
พ.ศ. 2499 โรงเรียนบ้านด่านม่วงคำได้ครูผู้สอนมาเพิ่มจำนวน 1 ตำแหน่งชื่อ นายปั่น โบกคำ แต่ย้ายไปเมื่อสิ้นปีการศึกษา
พ.ศ. 2500 พระอาจารย์ศรีเมือง อิสสะระญาโณ รักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านด่านม่วงคำลาสึก คณะสงฆ์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งพระอธิการคำผาย วชิรญาโณ เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านด่านม่วงคำ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลด่านม่วงคำในเวลาต่อมาโดยมีชั้นยศที่ เจ้าอธิการคำผาย วชิรญาโณ ทางราชการได้ตั้งโรงเรียนบ้านป่าปอขึ้น นักเรียนบ้านป่าปอย้ายกลับไปเรียนที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านของตน และมีคำสั่งแต่งตั้งย้ายครูโรงเรียนประชาบาลตำบลด่านม่วงม่วงคำไปเปิดทำการสอนที่โรงเรียนบ้านป่าปอจำนวน 2 คนคือ 1. นายกาบ สุวรรณเจริญ ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่ 2. นายสอน แสนสำแดง ครูผู้สอน
พ.ศ. 2501 โรงเรียนประชาบาลตำบลด่านม่วงคำได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนบ้านด่านม่วงคำ ปีนี้โรงเรียนบ้านด่านม่วงคำมีนักเรียนน้อยเฉพาะนักเรียนในหมู่บ้านแต่ได้ครูผู้สอนมาเพิ่มจำนวน 2 คนคือ 1. นายคำสอน แสนสำแดง 2. นางสาวเจริญ สุโคตรพรหมมี
พ.ศ. 2502 ทางราชการมีคำสั่งแต่งตั้งนายวีระพงศ์ ราชกรม เป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านด่านม่วงคำที่ว่าง นายคำสอน แสนสำแดง ได้รับคำสั่งย้าย จึงมีครูทำการสอนเพียง 2 คน
พ.ศ. 2503 นายสุพรรณ ไชยวงศ์คต เกษียณอายุราชการ นายบุญเรือง วรรณสุ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน
พ.ศ. 2505 ทางราชการมีคำสั่งแต่งตั้งย้ายนายวีระพงศ์ ราชกรม และแต่งตั้งนายเทียม จันทะรังสี เป็นครูใหญ่แทน ปีการศึกษานี้มีครู จำนวน 2 คน
พ.ศ. 2506 ทางราชการมีคำสั่งแต่งตั้งย้ายนายเทียม จันทะรังสี ไปโรงเรียนอื่นและย้ายนายกาบ สุวรรณเจริญ มาเป็นครูใหญ่แทน(สมัยที่ 4) ปีการศึกษานี้มีครู จำนวน 2 คน
พ.ศ. 2508 นายกาบ สุวรรณเจริญ เกษียณอายุราชการ โรงเรียนเหลือครูเพียงคนเดียวคือ นางเจริญ แสนนาม(สุโคตรพรหมมี) ต้องทำหน้าที่ทุกอย่างในโรงเรียน ต่อมาทางราชการได้จัดสรรงบประมาณจ้างช่างมาต่อเติมอาคารเรียนโดยการเปลี่ยนไม้แป้นมุงหลังคาเป็นสังกะสี เพิ่มฝา ประตู หน้าต่างและเพดาน อาคารไม้หลังแรกนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2474 สร้างเสร็จปี พ.ศ. 2508 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 74 ปี (นานที่สุดในโลก)
พ.ศ. 2509 นายบุญเรือง วรรณสุ เกษียณอายุราชการ นายทอน ไชยวงศ์คต ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ทางราชการส่งนายเบ็ง แก้วมะ มารักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ ปีการศึกษานี้มีครู จำนวน 2 คน
พ.ศ.2510 ทางราชการสั่งย้าย นายเบ็ง แก้วมะ ไปโรงเรียนอื่นและส่ง นายสมพงษ์ พลราชมมารักษาการในตำแหน่งครูใหญ่แทน ปีการศึกษานี้มีครู จำนวน 2 คน
พ.ศ. 2511 นายทอน ไชยวงศ์คต ลาออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน นายสุโท ไชยวงศ์คต ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ทางราชการมีสั่งแต่งตั้งให้นายสมพงษ์ พลราชม ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ปีการศึกษานี้มีครู จำนวน 2 คน
พ.ศ. 2513 นายสุโท ไชยวงศ์คต ถึงแก่กรรม นายทอน ไชยวงศ์คต ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านด่านม่วงคำครั้งที่ 2
พ.ศ. 2514 ทางราชการมีคำสั่งแต่งตั้งย้ายนายสมพงษ์ พลราชม ครูใหญ่ ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านหนองเหียน และแต่งตั้งย้ายนายณรงค์ อุปพงษ์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านนาตงสหราษฎร์อุทิศมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านด่านม่วงคำ ปีการศึกษานี้มีครู จำนวน 2 คน
พ.ศ. 2516 เจ้าอธิการคำผาย วชิรญาโณ เจ้าอาวาสวัดบ้านด่านม่วงคำชักชวนชาวบ้านก่อสร้างส้วมจำนวน 1 หลัง 2 ที่มอบให้แก่โรงเรียน
พ.ศ. 2520 นายทอน ไชยวงศ์คต เกษียณอายุราชการ นายพยนต์ ไชยวงศ์คต ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ทางราชการมีคำสั่งแต่งตั้งย้ายนางสมใจ อุปพงษ์ มาดำรงตำแหน่งครูผู้สอนโรงเรียนบ้านด่านม่วงคำ ปีการศึกษานี้มีครู จำนวน 3 คน
……………………………………………
13. ใสว่าสิบ่ถิ่มกัน
(ยืมชื่อเพลงบ่าวย้อ ก้อง ห้วยไร่)
…………………………………………..
ชาวภูไทยจากหลายหมู่บ้านหลายตำบลในเขตเมืองมหาชัยกองแก้วและหัวเมืองอื่น ๆ ของประเทศลาว ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง ขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการแต่งงานกับชนเผ่าอื่นไปทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2354 นับถึงปี พ.ศ. 2559 เป็นระยะเวลาที่ยาวนานถึง 205 ปี บุคคลล้มหายตายจากไปหลายรุ่น สิ่งก่อสร้างผุพังไปหลายแห่ง เหลือเพียงร่องรอยเรื่องเล่าและเรื่องราวที่บันทึกไว้ให้ลูกหลานได้รับรู้เพียงบางส่วนบางเรื่องบางตอนพอได้เล่าสู่กันฟัง ข้าพเจ้าเป็นเพียงหนึ่งในหลายล้านคนของลูกหลานชาวภูไทยมหาชัยที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ได้พยายามสืบค้นจากเอกสารและเรื่องเล่าจากบรรพชนแล้วนำมาเรียบเรียงเขียนใหม่ได้เพียงบางส่วน ทุกชีวิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ภาระในการสืบค้นเรียบเรียงเขียนเล่าเรื่องราวชาวภูไทยมหาชัยเป็นหน้าที่ของลูกหลานทุกคน แต่ไม่ว่าจะลำบากยากดีมีจนแค่ไหน ชาวภูไทยมหาชัยจะต้องสัญญากับตนเองเสมอว่า เราจะไม่ทิ้งกัน สำหรับชาวภูไทยที่ผสมกลมกลืนกับชนเผ่าอื่นจนลืมพวกเราไปแล้วทั้งภาษา ประเพณีและวัฒนธรมนั้นก็อยากจะถามความในใจของท่านว่า ใสว่าสิบ่ถิ่มกั๋น
พ่อครูดอทคอม
25 มิถุนายน 2559
4 Comments
เป็นเนื้อหาที่ดีมากๆเลยคะ
ขอบพระคุณจากใจของลูกหลานชาวบ้านด่านม่วงคำนะคะ
อยากขออนุญาติแชร์บทความนี้ไปให้คนอื่นๆได้รับรู้ถึงที่มาของบรรพบุรุษด้วยคะ
ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
อัจฉรา แสนดวง
หลานคุณย่าสด แสนดวง
สวัสดีครับ หลานอัจฉรา แสนดวง
หลานคุณย่าสด น่าจะเล่าให้หมดว่าเป็นลูกสาวใคร เรื่องที่ขออนุญาตแชร์ประวัติชาวภูไทยมหาชัยบ้านด่านม่วงคำนั้นแชร์ได้เต็มที่เลยหลาน พ่อครูอนุญาตด้วยความยินดียิ่ง แต่สำนวนการเขียนและภาษาที่ใช้ของพ่อครูไม่ดีนักจึงควรปรับแก้ก่อนแชร์นะครับ สวัสดีครับ
สวัสดีค่ะพ่อครู หนูกำลังจะเขียนบทเพื่อนำไปใช้ในการแข่งขันแสดงละครประวัติศาสตร์ของนักเรียน สนใจเรื่องราวของชาวผู้ไทด่านม่วงคำอย่างมาก จึงขออนุญาตนำข้อมูลต่างๆรวมถึงบทผญาของพ่อครูไปใช้ในการแสดงด้วยนะคะ
สวัสดีครับ คุณครูมา สกลทวาปี
พ่อครูรู้สึกตื่นเต้นและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่คุณครูมาสนใจประวัติชาวภูไทยมหาชัยบ้านด่านม่วงคำ รวมทั้งจะเขียนเป็นบทละครประวัติศาสตร์เพื่อฝึกนักเรียนเข้าแข่งขัน เรื่องที่ขอทั้งหมดพ่อครูอนุญาตด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ พ่อครูขอเอาใจช่วยและอวยพรให้ประสบความสำเร็จทุกประการเทอญ สวัสดีครับ